top of page

ความเป็นมาของโครงการ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) ได้อธิบายสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันโดยสรุปได้ดังนี้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญให้ แก่เศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย 2.99 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และก่อให้เกิดการจ้างงาน 8.3 ล้านตำแหน่ง ในปี 2562 อีกทั้งยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยระหว่างปี 2558 – 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทย ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี การขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าว เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้น ของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 5.6 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทั้งนี้เพราะ การใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวขยายตัวลดลงและจำนวนระยะเวลาต่อทริปลดลง นอกจากนี้ หากพิจารณาในมิติของการกระจายรายได้ พบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 90 ยังกระจุกอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก ไม่สามารถกระจายไปสู่เมืองท่องเที่ยวรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 2563 ผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 71 จากปี 2562 เหลือเพียง 0.79 ล้านล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ การหดตัวดังกล่าว ยังส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะจากปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและการขาดสภาพคล่อง ซึ่งโดยสรุปแล้วฉากทัศน์ของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยในระยะต่อจากนี้ไปจะยังคงมีความไม่แน่นอน


ถึงอย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเสมอมา เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตที่ยังยึดถือปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของคนไทยและถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิตให้ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท จึงเป็นที่มาของการสร้างพระบูชาและเครื่องรางของขลังจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูปเพื่อให้พุทธศาสนิกชนไว้บูชาเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตตนเองและครอบครัว ซึ่งพระเครื่องที่ได้รับความนิยมและถูกจัดอันดับให้เป็นสุดยอดพระเครื่องแห่งเมืองไทยหรือพระเบญจภาคี ได้แก่ พระรอด พระซุ้มกอ พระนางพญา พระผง และพระสมเด็จ ซึ่งผู้ที่มีบูชาไว้ในครอบครองเชื่อว่าจะทำให้ตนเองและครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรืองทั้งหน้าที่การงาน ฐานะความมั่นคง ตลอดจนแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุอันตราย ยังมีพระเกจิอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเป็นที่เคารพและเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เช่น หลวงพ่อพรหม ถาวโร หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) และพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) ด้วยความเชื่อและความศรัทธาในตัวเองพระเกจิอาจารย์ทั้งหมดเหล่านี้ จึงนำมาถึงการสร้างเป็นพระเครื่อง รูปหล่อ รูปเคารพ ที่จะนำมาถึงความสงบสุข พุทธคุณแคล้วคลาดและเมตตามหานิยมแก่ศิษยานุศิษย์ทุกคน


ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนด้านบุคลากรโดยเฉพาะเยาวชนที่ควรได้รับการปลูกฝังให้มีความตื่นรู้ในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น ความภูมิใจและหวงแหนในความเป็นไทย เพิ่มความสามารถ ความรู้ ความเข้าใจ ในการวางแผนนำเที่ยว การจัดรายการนำเที่ยว และการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อเชื่อมโยงความเชื่อ ความศรัทธาของ  พระเบญจภาคีและพระเกจิอาจารย์ 4 รูป จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป


คณะผู้จัดทำ

ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page