top of page

พระเกจิอาจารย์ “หลวงพ่อเงิน” วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร

"หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ" เป็นชาวบ้านบางคลาน อำเภอบางคลาน จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรคนที่ 4 บิดาของท่านชื่อ อู๋ เป็นชาวบ้านบางคลาน มารดาของท่านชื่อฟัก เป็นชาวบ้านจังหวัดกำแพงเพชร ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งรัตนโกสินทร์ มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 6 คนด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2356 หลวงพ่อเงิน อายุได้ 5 ขวบ นายช่วงซึ่งเป็นครูของท่าน ได้พาหลวงพ่อเงิน ไปอยู่กรุงเทพฯ จนกระทั่งหลวงพ่อเงินเติบโตเข้าศึกษาเล่าเรียนได้ จึงได้นำหลวงพ่อเงินไปฝากไว้ที่วัดตองปู (วัดชนะสงคราม) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ ที่วัดชนะสงครามตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2363 หลวงพ่อเงินอายุได้ 12 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบบวช ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชนะสงคราม ฉายา พุทธโชติ แล้วหลวงพ่อเงินท่านได้จำพรรษา เพื่อปฏิบัติธรรมวินัยเรียนทางวิปัสสนากรรมฐานอยู่ได้ 3 พรรษา ขณะที่ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงคราม ท่านได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาศิลปวิทยาคมตลอดจนเรียนวิปัสสนาธุระ ในทางเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรี จากเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม


พออายุได้ 20 ปี บิดา-มารดาและบรรดาญาติมีความประสงค์จะให้อุปสมบทแต่ "หลวงพ่อเงิน" ไม่ยอมเพราะเกรงว่าอายุของท่านจะไม่ครบบริบูรณ์จริง บรรดาญาติก็อนุโลมตามกระทั่งหลวงพ่ออายุได้ 22 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2373 ได้กำหนดวันอุปสมบทไม่ทราบว่าอุปัชฌาย์ชื่ออะไรเช่นกันได้ฉายาว่า "พุทธโชติ" หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะจนแตกฉาน แล้วทำการฝึกฝนวิปัสสนาจนมีญาณสมาธิแก่กล้า จึงมุ่งศึกษาพุทธาคมจาก "หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า" จนมีความชำนาญทางพุทธาคมมาก มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เล่าลือกันในบรรดาชาวบ้านมากมาย พอได้อุปสมบทแล้วท่านก็ยังศึกษาวิปัสสนากรรมฐานต่ออีกด้วย ต่อมาอีก 3-4 ปี โยมปู่ของท่านป่วยหนัก ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังอำเภอโพทะเล จำพรรษาอยู่ที่วัดคงคาราม


ภาพวัดบางคลาน จ.พิจิตร


"หลวงพ่อเงิน" ท่านเป็นพระเรืองวิชา ชอบเล่นแร่แปลธาตุ แต่หลวงพ่อเงินท่านเคร่งธรรมวินัย ชอบความสงบ จึงได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านวังตะโก ลึกเข้าไปทางลำน้ำเก่าและต่อมาก็ได้สร้างวัดหิรัญญาราม (วัดวังตะโก) เกิดขึ้นเป็นพระอาราม "หลวงพ่อเงิน" ได้เป็นผู้สร้างไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2377 ต่อมาวัดวังตะโกหรือวัดหิรัญญารามก็เจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอมาฟังธรรมขอเครื่องรางของขลังและขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์และสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนา หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น มีผู้คนมาให้ท่านช่วยรดน้ำมนต์ให้ไม่ขาดสายลูกศิษย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อมาก็มีหลายท่าน เช่น หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ที่มีชื่อเสียงในด้านตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อน้อย วัดคงคาราม ผู้สร้างตะกรุดหนังปลากระเบน และตะกรุดหนังอีเก้ง ปลัดชุ่ม วัดท้ายน้ำ หลวงพ่อหอม วัดหลวง หลวงพ่อนวล วัดหาดมูลกระบือ หลวงพ่อฟุ้ง วัดปากน้ำ หลวงพ่อขำ วัดโพธิ์เตี้ย หลวงพ่อไป๋ วัดท่าหลวงพล ผู้สร้างเหรียญหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองหลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ เป็นต้น นอกจากนี้ศิษย์ฆราวาสก็คือเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ท้ายที่สุดหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณ ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อเงิน ท่านได้มรณภาพ ด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์เดือน 10 แรม 11 ค่ำ ปีมะแม เวลา 5.00 น. ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2462 รวมอายุได้ 111 ปี




คำกล่าวบูชา

ตั้งนะโม 3 จบ

อะกะ อะธิ อะธิ อะกะ ธิอะ กะอะ วันทามิ อาจาริ ยัญจะ หิรัญญะ นามะกัง

ถิรัง สิทธิ ทันตัง มหาเตชัง อิมธิ มันตัง วะสาทะรัง


 

วัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) จังหวัดพิจิตร



วัดบางคลาน หรือวัดหิรัญญาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า ในตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร อายุเกือบ 200 ปี ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดบางคลานหรือวัดวังตะโก มีชื่อเรียกอื่นว่า วัดคงคาราม วัดของหลวงพ่อเงิน บ้างเรียกกันว่าวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2370 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2514


วัดหิรัญญารามเป็นวัดที่หลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ สร้างขึ้น สาเหตุที่หลวงพ่อเงินสร้างวัดนี้ขึ้นมาเพราะท่านได้พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่สงบและอยู่ไม่ไกลจากแหล่งชุมชนนักเหมาะที่จะเป็นสถานที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งนี้เพราะสภาพพื้นที่สมัยนั้นเป็นป่าทึบและมีสัตว์ร้ายนานาชนิด อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สภาพเดิมของวัดเริ่มเป็นเพียงสำนักสงฆ์ มีกุฏิหลังคามุงแฝกอย่างง่าย ๆ เพียง 1 หลัง เมื่อหลวงพ่อเงินมาจำพรรษาและสร้างวัดนี้ ท่านนำต้นโพธิ์มา 1 ต้น จากวัดคงคาราม


สิ่งก่อสร้างภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์นครไชยบวรเป็นพิพิธภัณฑ์รูปมณฑป 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงพ่อเงิน ชั้นล่างเป็นที่แสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ทางวัดได้สะสมไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่มีผู้นำมาถวาย เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ







ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page