พระกำแพงซุ้มกอ เป็นยอดพระเครื่องอันดับ 1 จากลานทุ่งเศรษฐี พิมพ์ที่นิยมกันมาก คือ พระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนก ที่นิยมรองลงมา คือ พระกำแพงซุ้มกอดำ ซึ่งพระพิมพ์นี้จะไม่มีลวดลายกนกปรากฏรวมอยู่ในองค์พระ พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระเครื่องปางสมาธิแบบขัดราบ ประทับนั่งบนฐานบัวเล็บช้างห้ากลีบ ด้านข้างทั้งสองขององค์พระใกล้ ๆ กับพระกรนั้นจะปรากฏลวดลายกนก 4 ขดม้วนตัววิ่งขึ้นไปบรรจบกับพระรัศมี ที่เป็นเส้นแฉกวิ่งจาก ที่ปรากฏล้อมรอบพระเศียรองค์พระซุ้มกอไว้อีกชั้นหนึ่ง เว้นแต่พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์กลางบางพิมพ์เท่านั้น ส่วนของขอบพิมพ์พระจะโค้งมนคล้ายตัวอักษร ก.ไก่ จึงถูกเรียกว่า “พระซุ้มกอ” ประกอบด้วยเนื้อดินผสมว่าน 108 และเกสรดอกไม้ นอกจากนั้นยังมีพระกำแพงซุ้มกอที่ทำจากเนื้อชินเงิน โดยเฉพาะว่านดอกมะขามจะต้องปรากฏให้เห็นตามผิวองค์พระ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเนื้อทุ่งเศรษฐีไว้ทุกๆ องค์ จึงทำให้พระกำแพงซุ้มกอ ส่วนใหญ่เนื้อจะนุ่มอ่อนตัวกว่า คล้ายกับพระผงสุพรรณ จากการพบทั้งขนาดและเนื้อที่มีความแตกต่างกันออกไป จึงมีการแบ่งดังต่อไปนี้
พิมพ์ใหญ่ พระซุ้มกอพิมพ์นี้ด้านข้างจะหนา อย่างน้อยครึ่งเซนติเมตร ขึ้นไป พุทธลักษณะนับว่างดงามกว่าพระซุ้มกอทุกชนิด งามถึงขนาดเห็นหู ตา ปาก และจมูก มีราคาเช่าแพงกว่าทุกพิมพ์ ข้อควรจำสำหรับพระพิมพ์ใหญ่นี้ก็คือ ซอกแขนทั้งสองข้างจะลึกมาก ด้านข้างจะถูกตัดด้วยเส้นตอก เหมือนกับด้านข้างพระนางพญา ส่วนด้านหลังสำหรับพระพิมพ์นี้จะต้องปรากฏเป็นลายกาบหมากอยู่ที่ด้านหลังไว้ทุกองค์ สำหรับขนาดจะมีประมาณ 1.7×2.5 เซนติเมตร
พิมพ์กลาง พระซุ้มกอพิมพ์กลางนี้ ความหนาบางที่ปรากฏไม่ค่อยจะอยู่ในระดับมาตรฐาน หนาประมาณ 4 มิลลิเมตร ขึ้นไป เป็นพิมพ์ที่ค่อนข้างจะหายาก ลักษณะหู ตา ปาก และจมูก ตลอดจนชายสังฆาฏิจะเห็นเพียงราง ๆ เท่านั้น ทั้งซอกแขนตื้น ส่วนด้านข้างจะถูกตัดด้วยคมตอกหรือปาดด้วยมีด แต่ด้านหลังจะเป็นมุมกลับกับพิมพ์ใหญ่คือ จะต้องมีลายมือปรากฏอยู่ หรือไม่ก็เป็นแบบปาดราบ พระพิมพ์นี้จะมีขนาดประมาณ 1.7× 2.3 เซนติเมตร
พิมพ์เล็ก พระซุ้มกอพิมพ์เล็กนับว่าเป็นพระเครื่องที่ค่อนข้างมีมากกว่าทุก ๆ พิมพ์ ความหนาบางองค์พระก็จะไม่มาตรฐานอีกเช่นกัน ทั้งในด้านความงาม หรือขอบข้างหรือด้านหลัง ก็จะปรากฏเช่นเดียวกับพระซุ้มกอพิมพ์กลางทุกอย่าง ขนาดประมาณ 1.5×2.2 เซนติเมตร พระซุ้มกอพิมพ์นี้หาชมได้ยากและส่วนมากมักจะเป็นของกรุวัดพิกุล องค์พระจะบางกว่าพิมพ์เล็กลงไปเล็กน้อย ส่วนด้านหลังจะมีลายมือปรากฏอยู่ประปราย ขนาดโดยประมาณ 1.1×1.4 เซนติเมตร
2.พระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี้ยะ เป็นพระซุ้มกออีกพิมพ์หนึ่งที่ให้แบบคล้ายกับพระงบน้ำอ้อย แต่จะเล็กกว่า ลักษณะทำเป็นพิมพ์กลม ๆ ด้านหลังอูมนูนและมีลายมือปรากฏด้วย ส่วนด้านข้างจะโค้งทรงกลมโดยไม่มีรอยตัด พระพิมพ์นี้ความจริงแล้วก็คือ พระซุ้มกอพิมพ์กลางหรือพิมพ์เล็กนั่นเอง แตกต่างตรงที่มีปีกยื่นออกเป็นวงกลม พระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี้ยะ แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วย คือ พิมพ์ใหญ่ มีพระลอยองค์ตรงกลาง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร พิมพ์เล็ก องค์พระจะเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่ ส่วนปีกที่ยื่นออกเป็นทรงกลมนั้นจะไม่กลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.7 เซนติเมตร
3.พระซุ้มกอดำ พุทธลักษณะเหมือนกับพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ชนิดที่มีลายกนกทุกอย่าง ต่างตรงที่ตัดกนกด้านข้าง กับบัวเล็บช้างใต้ฐานประทับออกจนหมด พระซุ้มกอดำจึงมีแต่พระประทับนั่งปางสมาธิบนฐานเชียง โดยมีปีกโค้งเว้า รองรับไว้กับมีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียรไว้ด้วยพระพักตร์ค่อนข้างป้อม พระอุระจะผึ่งผายเข้มข้นกว่าพิมพ์นิยมชนิดมีลายกนก ด้วยเหตุนี้ “พระซุ้มกอดำ” จึงเป็นพระเครื่องศิลปะ วัดตระกวน ซึ่งเป็นยอดศิลปะชั้นหนึ่งของสมัยสุโขทัยยุคต้น ชื่อเรียก “พระซุ้มกอดำ” นั้น เพราะไม่ว่าจะขุดพระพิมพ์นี้ได้จากกรุใดในลานทุ่งเศรษฐีก็ตาม พระทุกองค์มักจะมีสีดำไปหมด พระซุ้มกอพิมพ์นี้จึงถูกขนานนามว่า พระซุ้มกอดำ โดยถือเอาสีมาเรียกเป็นชื่อตั้งแต่นั้นมา
4.พระซุ้มกอเนื้อว่าน จัดเป็นพระเครื่องทุ่งเศรษฐีที่อยู่ในอันดับหายากอีกพิมพ์หนึ่งเนื้อเท่าที่ปรากฏจะคล้ายกับพิมพ์ฝักดาบ พิมพ์เม็ดขนุน คือ ใช้ว่านมากชนิดรวมทั้งผงเกสรตำรวมกันแล้วอัดลงแม่พิมพ์อีกทอดหนึ่ง พระซุ้มกอที่เป็นชนิดเนื้อว่านปัจจุบันนี้พบแต่หน้าทองหรือเงินประกบไว้กับว่านอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น เพราะเกือบ โดยส่วนใหญ่ พระทุ่งเศรษฐีเนื้อนี้มักจะกะเทาะกร่อนแตกหมด เรื่องพระซุ้มกอชนิดเนื้อว่านดังกล่าวนี้ (มีผู้ทำปลอมกันไว้มาก โดยเนื้อจะอยู่ในสภาพที่ดีเกินไป) นอกจากจะมีทำเป็นพิมพ์ประกบด้วยแผ่นทองคำ หรือแผ่นเงินปิดหน้าไว้แล้วชนิดที่เป็นว่านล้วน ๆ โดยไม่ประกบหน้าอะไรไว้เลยก็มี ซึ่งจะพบกับพระเนื้อว่านที่มีเฉพาะพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ชนิดมีลายกนกกับพิมพ์กลางเท่านั้น และยังไม่เคยมีผู้ใดได้พบจากกรุอื่น ๆ ในภายหลังอีกเลย นอกจากกรุวัดพระบรมธาตุ ซึ่งได้แตกกรุออกมาเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2392
5.พระซุ้มกอเนื้อชิน พระซุ้มกอชนิดเนื้อชินดังกล่าวนี้ นับเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่หายากกว่าชนิดเนื้อผง ความแตกต่างของพระซุ้มกอชนิดเนื้อชินเงิน แบ่งพิมพ์ออกได้เป็น 3 ขนาดดังนี้
พิมพ์ใหญ่ ความงามจะลึกคมพอ ๆ กับพระซุ้มกอชนิดเนื้อผง และมีขนาดเท่ากัน แต่ด้านหลังเป็นลายผ้าเหมือนพระเนื้อชินทั่ว ๆ ไป
พิมพ์กลาง มีงามกว่าชนิดเนื้อผงพิมพ์กลาง แต่ความตื้นและขนาดยังคงเท่ากัน ส่วนด้านหลังจะเป็นลายผ้าและต้นปาดราบ
พิมพ์เล็ก ความงามดีกว่าชนิดเนื้อผง แต่ขนาดจะเท่ากัน นอกจากนั้นทุก ๆ อย่างของพระซุ้มกอชนิดเนื้อชินพิมพ์เล็กนี้ จะมีเหมือนกับพระซุ้มกอเนื้อชินพิมพ์กลางทุกอย่าง
พุทธคุณ
เด่นทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ มีคำพูดที่พูดติดปากกันมาแต่โบราณว่า “มีกูแล้วไม่จน”
คำกล่าวบูชา
(นะโม 3 จบ)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ อุนะอุ อุนะอุ อุนะอุ
ภาพพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ต่าง ๆ ที่มา : สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย. 2559
Comments