top of page

พระเบญจภาคี “พระสมเด็จวัดระฆัง"กรุงเทพมหานคร

อัปเดตเมื่อ 22 ส.ค.


พระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์พระประธานใน พระชุดเบญจภาคี ท่านผู้สร้าง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จฯระฆังฯ มีมากมาย นับว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งตั้งแต่มีวงการพระเครื่องมา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่พระนครศรีอยุธยา ท่านมีอายุยืนยาวนานถึง 5 แผ่นดิน โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่อยู่ทันเห็น รัชกาลที่ 1 พระองค์จริง ทั้งนี้ เมื่อท่านอุปสมบท รัชกาลที่ 1 ทรงพระเมตตารับเป็นนาคหลวง อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านเป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน พระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้สร้าง พระสมเด็จฯอรหังขึ้น ทั้งนี้ ว่ากันว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ดำเนินรอยตามการสร้างพระตามสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ในปี พ.ศ. 2407 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒา-จารย์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หลังจากนั้น 2 ปี ในปี พ.ศ. 2409 ท่านได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม


สำหรับมูลเหตุในการสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังนั้น เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ท่านขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องพระพิมพ์ ในครั้งนั้นท่านได้พบพระพิมพ์โบราณที่วัดเสด็จซึ่งเป็นวัดร้าง ท่านจึงได้นำพระพิมพ์เหล่านั้นกลับมาบางส่วนพร้อมทั้งดำริที่ว่าจะสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเหมือนดังที่คนโบราณได้กระทำมา


สำหรับมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จฯ ประกอบด้วยปูนขาวเป็นส่วนใหญ่ (เอาเปลือกหอยมาเผาเป็นปูนขาว) ผงพุทธคุณ ซึ่งเกิดจากการเขียนอักขระลงบนกระดานชนวนแล้วลบ จากนั้นนำผงที่ได้มาปั้นแล้วนำมาเขียนใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยเริ่มจากผงปถมัง ผงอิทธิเจ ตรีนิสิงเห มหาราช และพุทธคุณ ผงที่ได้จึงมีอานุภาพสูงสุด ส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่ ใบลานเผา ดอกไม้แห้ง เศษจีวรพระ และเนื้อพระประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว เพื่อกันการแตกร้าว


สำหรับขั้นตอนกรรมวิธีการสร้างพระสมเด็จนั้น นำเอามวลสารผสมแล้วนำมาตำเป็นเนื้อพระสมเด็จ ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตัดออกเป็นชิ้น ๆ (เรียกว่า ชิ้นฟัก) นำเนื้อพระสมเด็จชิ้นฟักวางลงที่แม่พิมพ์ ซึ่งแกะจากหินชนวน แล้วกดเนื้อพระกับแม่พิมพ์  ตัดขอบพระเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ตอกตัดดอกไม้ไผ่ที่ใช้จักสาน สำหรับแม่พิมพ์ ของพระสมเด็จฯนั้นเป็นแม่พิมพ์พระอย่างแรกที่เป็นศิลปะแบบ Abstract คือ เป็นลายเส้นรูปพระ แทนที่จะเป็นแบบที่มีรายละเอียดที่เป็นรูปพระเสมือนองค์จริง แม่พิมพ์ พระสมเด็จฯวัดระฆัง มีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ 1. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์ประธาน) 2. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม 3. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เจดีย์ 4. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ 5. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม



พุทธคุณ

พุทธคุณครอบจักรวาล


คำกล่าวบูชา

ในพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลา 108

ตั้งนะโม 3 จบ

“โต” พระพุทธคุณ มีคุณ (56)

โตเสนโต วะระธัมเมนะ   โตสัฏฐาเน สิเว วะระ

โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง   โตสะจิตตัง นะมามิหัง.


“โต” พระธัมมคุณ มีคุณ (38)

โตเสนโต สัพพะสัตตานัง   โตเสติ ธัมมะเทสะนัง

โตสะจิตตัง สะมิชฌันตัง   โตสิตันตัง นะมามิหัง.


“โต” พระสังฆคุณ มีคุณ (14)

โตเสนโต เทวะมานุสเต   โตเสนโต ธัมมะมะเทสะยิ

โตเสติ ทุฏฐะจิตเตปิ   โตเสนตันตัง นะมามิหัง


 

วัดระฆังโฆสิตาราม


วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่าวัดบางหว้าใหญ่ ตั้งอยู่ที่ 205 ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คู่กับวัดบางหว้าน้อย คือ วัดอมรินทราราม พุทธศักราช 2312 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าใหญ่นี้พร้อมทั้งยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่งปรากฏมีเสียงไพเราะกังวานมาก จึงโปรดให้นำเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นพระองค์จึงโปรดให้สร้างหอระฆังขึ้น พร้อมระฆังอีก 5 ลูก เป็นการทดแทน และได้พระราชทานนามใหม่หลังบูรณะเสร็จเรียบร้อยว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม"



พระอุโบสถ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ แต่รูปทรงยังคงเป็นแบบของศิลปะสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะหน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีช่องหน้าต่างสองบาน ซึ่งเป็นศิลปะแบบรัชกาลที่ 1 แบบหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ส่วนภายในพระอุโบสถก็มีพระประธานที่งดงาม หน้าอุโบสถด้านทิศใต้ ( ด้านหน้าวิหาร ) มีพระปรางค์ใหญ่ตั้งเป็นสง่าด้วยรูปทรงและสัดส่วนที่นับว่าสวยงามมากองค์หนึ่ง และมีพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสามองค์ ที่กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ทรงสร้างไว้ เป็นเจดีย์เหลี่ยมแบบรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพดี



หอระฆัง

หอระฆัง คือสัญลักษณ์ของวัดระฆังสร้างแบบจัตุรมุขศิลปะ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านบนแขวนระฆังที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 1 จำนวนห้าลูก



หอไตร

หอไตร หรือในอีกชื่อเรียกว่า “ตำหนักจันทน์” กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ ในปี พ.ศ. 2492 เดิมเคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การประกอบตัวเรือนเป็นไปในลักษณะสำเร็จรูปแบบเรือนไทยโบราณ จะพิเศษไปบ้างที่การต่อเสาบากประกบกัน โดยใช้สลักเหล็กแทนเดือยไม้ พื้นก็ปูกระดานขนาดใหญ่หาดูยาก หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวด กลึงสวยงามทุกช่อง ฝาปะกนด้านนอกนั้นลูกตั้งและลูกเซ็นมีบัวด้วย แต่ฝาปะกนด้านในต่างกับของเรือนโบราณ เพราะเป็นฝาเรียบเสมอกันตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องขอตอนปั้นลมโบกปูนห้ามไว้ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาหงส์แต่อย่างใด ปัจจุบันหอไตรหลังนี้ ทางวัดได้ย้ายเข้ามาปลูกใหม่ ภายในบริเวณกำแพงแก้ว อยู่ด้านหลังพระอุโบสถทางทิศตะวันออก และบูรณะซ่อมแซมภาพเขียนที่ชำรุดเสียหายให้คงไว้ดังเดิม






ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ความคิดเห็น


bottom of page