top of page

เส้นทางท่องเที่ยวตามความเชื่อความศรัทธาพระเบญจภาคี จังหวัดพิษณุโลก



ช่วงเช้า ออกเดินทางจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก


  • วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย

  • วัดนางพญา เป็นวัดที่มีความเป็นมาที่สำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระเครื่อง ที่เรียกว่า “พระนางพญา”

  • วัดราชบูรณะ เป็นวัดโบราณ ซึ่งอาจสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และปฏิสังขรณ์ในสมัยพระยาลิไทในราวต้นรัตนโกสินทร์

  • พักรับประทานอาหารกลางวัน ร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาริมน่าน เป็นร้านอร่อย ชื่อดังประจำจังหวัดพิษณุโลก


ช่วงบ่าย


  • พระราชวังจันทร์ เป็นพระราชวังโบราณ ที่เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอุปราช สามารถศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก และพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

  • วันเวลา คาเฟ่ เป็นคาเฟ่ในสวนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เหมือนในเทพนิยาย



 

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า "วัดใหญ่" ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประติมากรรม ที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารมหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์



วัดนางพญา


วัดนางพญา ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วัดนางพญาไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่พิจารณาจากลักษณะด้านสถาปัตยกรรมของพระวิหารและพุทธประติมากรรมของประธานองค์เก่า สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย หรือสมัยกรุงสรีอยุธยาตอนต้น คราวเดียวกันกับวัดราชบูรณะ ในรัช-มัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) คราวที่เสด็จมาครองเมืองพิษณุโลก เป็นเวลา 7 ปี คือในระหว่างปี พ.ศ.1905 ถึงปี พ.ศ. 1912 หรือในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คราวที่เสด็จมาครองเมืองพิษณุโลก เป็นเวลา 25 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2006 ถึง พ.ศ. 2031 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์มาตลอดตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีเรื่อยมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน


อนึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าผู้ที่สร้างวัดนางพญา คือพระนางวิสุทธิกษัตริย์เอกอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ) ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีสุพรรณกัลยาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวที่สมเด็จพระมหาราชาเสด็จมาครองเมืองพิษณุโลก ในฐานะพระราชบุตรเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างปี พ.ศ. 2091 ถึงปี พ.ศ. 2112 และเหตุที่เรียกว่า “วัดนางพญา” อาจเป็นเพราะพระนางวิสุทธิกษัตริย์ทรงประทับที่เมืองพิษณุโลกด้วยศักดินาแห่งพระนางสูงกว่าคนทั้งปวงในเมืองฝ่ายเหนือ เปรียบเหมือนนางพญาผึ้งซึ่งเป็นใหญ่กว่าผึ้งทั้งปวง จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อว่า “วัดนางพญา”


วัดนางพญาเป็นวัดที่มความเป็นมาที่สำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระเครื่อง ที่เรียกว่า “พระนางพญา” ซึ่งมีการพบกรุครั้งแรกปี พ.ศ.2444 และครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยได้รับเกียรติให้เป็นพระเครื่อง 1 ใน 5 องค์ของพระเครื่องชุด “เบญจ-ภาคี” ซึ่งเป็นชุดพระเครื่องยอดนิยมของผู้ชื่นชอบพระเครื่องเป็นอย่างมากมาทุกยุคทุกสมัย




วัดราชบูรณะ


วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านบริเวณใจกลางเมืองพิษณุโลกเยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช) และตรงกันข้ามกับวัดนางพญา วัดราชบูรณะมีพื้นที่ 14 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา วัดราชบูรณะเป็นวัดโบราณ ซึ่งอาจสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และปฏิสังขรณ์ในสมัยพระยาลิไทในราวต้นรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 4 ได้มีการบูรณะขึ้นอีกครั้ง ภายในวัดมีศิลปะโบราณสถานมากมาย เช่น เจดีย์ใหญ่วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกติดถนนริมฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นเจดีย์ทรงกลม ตรงกลางเป็นพระเจดีย์ประธานฐานเจดีย์มีลักษณะรูปทรงศิลปะสมัยสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีการบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ในสมัยอยุธยา วิหารน้อยเป็นอาคารก่ออิฐไม่ฉาบปูน ขนาดยาว 3ห้อง แต่เดิมเป็นวิหารคลุมเฉพาะองค์พระเท่านั้น     วิหารหลวง มีลักษณะอาคารแบบทรงโรง หน้าบรรณเป็นแบบภควัม ภายในกรอบลูบฟักสลักลายแปลงแบบช่อหางโต ลักษณะศิลปกรรมแบบสุโขทัย อุโบสถวัดราชบูรณะ ลักษณะศิลปะสุโขทัย หน้าจั่วเป็นแบบเท่า คือ แบบจัวภควัม เช่นเดียวกับจั่ววิหารพระพุทธชินราช บานประตูสลักลายเป็นดอกสี่กลีบ แบบดอกลำดวน รอบอุโบสถประดิษฐานเสมา เป็นเสมาคู่หินชนวน สลักประดิษฐานบนฐานบัวไม่มีซุ้มเป็นเสมายืนแท่น พระประธานเป็นพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ลงรักปิดทองขนาดหน้าตัก 2.55 เมตร สูง4.20 เมตร ภาพจิตรกรรม บริเวณผนังอุโบสถตอนบนเขียนเรื่อง "รามเกียรติ์"ส่วนด้านล่างติดกับพื้นเขียนเรื่อง "ถามกรีทา" จิตรกรรม เป็นจิตรกรรมสีฝุ่นบนผนังปูน ฝีมือช่างพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากเมืองหลวง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หอไตรไม้ เป็นอาคารไม้ทรงไทย 2ชั้น ชั้นบนเป็นหอไตร ชั้นล่างเป็นหอ สวดมนต์ หอไตรเสากลม



พระราชวังจันทร์


พระราชวังจันทน์ เป็นพระราชวังโบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ทางด้านทิศเหนือของเมืองพิษณุโลก เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอุปราช โดยในขณะนั้นเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานพร้อมทั้งประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. 2537 สถานที่สำคัญในบริเวณใกล้เคียงพระราชวังจันทน์ ได้แก่ - ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เป็นอาคารจัดแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก และพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. - วัดวิหารทอง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังจันทน์ เป็นเจดีย์ประธานมีรูปแบบเป็นพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น สภาพในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเขียงและฐานบัวลูกฟัก สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานในอุโบสถวัดสระเกศ โดยได้จำลองพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวขนาดเท่าองค์จริงมาประดิษฐานไว้ในวิหารเดิม สันนิษฐานว่าวัดวิหารทองน่าจะสร้างขึ้นในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 - วัดศรีสุคต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกกำแพงพระราชวังจันทน์ เป็นเจดีย์ประธานทรงระฆัง มีเจดีย์รายประจำมุมทั้งสี่มุม สันนิษฐานว่าวัดศรีสุคตน่าจะเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนการสร้างพระราชวังจันทน์ สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 - วัดโพธิ์ทอง ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกกำแพงพระราชวังจันทน์ ประกอบด้วยเจดีย์ประธานที่เหลือเพียงส่วนฐานเขียง มีเจดีย์รายประจำมุมทั้งสี่มุม



วัดจุฬามณี


วัดจุฬามณีแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแคว โบราณสถานเก่าแก่ที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จออกบวชที่วัดแห่งนี้ เป็นเวลานานถึง 8 เดือน 15 วัน ในครั้งนั้นมีข้าราชบริพาร ออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป



วัดเจดีย์ยอดทอง


วัดเจดีย์ยอดทอง สันนิษฐานว่าจะสร้างในสมัยเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ คือสมัยสุโขทัย เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาล วัดเจดีย์ยอดทองในปัจจุบันเหลือเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเพียงองค์เดียวที่เป็นศิลปสุโขทัยฐานกว้าง 9 เมตร สูง 20 เมตร เฉพาะยอดทรงดอกบัวตูมนั้น ได้เห็นรอยกระเทาะของปูนทำให้แลเห็นการเสริมยอด โดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลมของดอกบัวตูมเป็นที่นำสังเกตว่า ลักษณะเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นศิลปะของสมัยสุโขทัยนี้ ยังคงมีปรากฏอยู่ในจังหวัดพิษณุโลกเพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนพระปรางค์(พระศรีรัตนมหาธาตุ)ที่วัดใหญ่นั้น ผู้รู้ยืนยันว่าทรงเดิมเป็นแบบดอกบัวตูม ตัดแปลงเป็นแบบปรางค์สมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ฉะนั้น วัดเจดีย์ยอดทองจะต้องเป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมกันต่อไป




ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page