ช่วงเช้า ออกเดินทางจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณ มาแต่อดีต ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรี ภายในวัด จะพบ พระปรางค์ ที่เคยพบ พระเครื่องดัง อย่างพระผงสุพรรณ
วัดแค (คุ้มขุนแผน) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน"
วัดพระนอน อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดพระนอน จุดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ แปลกว่าที่อื่นตรงที่เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในลักษณะนอนหงาย ขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย
พักรับประทานอาหารกลางวัน ร้านอาหารเรือนแพครัวสุพรรณ เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน มีส่วนของเรือนแพที่ยื่นไปในแม่น้ำ
ช่วงบ่าย
วัดเขาทำเทียม พุทธมณฑล (พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ) เป็นหน้าผาแกะสลักพระพุทธรูป และยังเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญในบริเวณอุทยานธรณีพุหางนาค จังหวัดสุพรรณบุรี
ร้าน Nèr cafe เหน่อ คาเฟ่ เป็นร้านกาแฟริมทุ่งนา มองเห็นวิวทุ่งนา ตัวร้านเป็นสีดำตัดกับสีเหลือง
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีอายุราว 1200 ปี ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่อดีต ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรี ในท้องที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นวัดที่สำคัญตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ด้านทิศตะวันตก บริเวณศูนย์กลางเมืองโบราณสุพรรณบุรี ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ภายในวัดประกอบไปด้วยโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระปรางค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ อุโบสถ วิหารน้อย และซากเจดีย์รายจำนวน 2 องค์ บริเวณด้านทิศตะวันตกของพระปรางค์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ภายในวิหารด้านหน้าพระปรางค์
วัดแค (คุ้มขุนแผน)
วัดแค เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี วัดแคเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่และมีอายุราว 1,000 ปี เมื่อวัดรอบโคนต้นยาวประมาณ 9.50 เมตร เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้นนี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า "คุ้มขุนแผน" เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและเป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ภายในวัดมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบซึ่งเป็นศิลปะยุครัตนโกสินทร์ จีวรและอังสะเป็นลายดอกพิกุล ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้มกรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี พ.ศ. 2412 นอกจากนี้ยังมี "รูปปั้นหลวงปู่คงนั่งพญาต่อ" ที่มีการนำรังต่อยักษ์มาแสดงไว้ข้างเคียงกัน รวมไปถึงโบราณวัตถุอย่าง "พระพุทธบาทสี่รอย" รอยพระบาทสร้างซ้อนกันไว้ถึงสี่รอยด้วยกันและทำจากทองเหลือง เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันตั้งแต่ 09.00-17.00 น.
วัดพระนอน
วัดพระนอน ตั้งอยู่ตำบลพิหารแดง เลยวัดหน่อพุทธางกูรไปเล็กน้อย วัดพระนอนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมี อุทยานมัจฉา อยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด โดยวัดพระนอนแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่สมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ และปลูกสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น ศาลาการเปรียญที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ส่วนด้านในจะพบกับ "อุทยานมัจฉา" ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด โดยทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ใกล้ ๆ กับอุทยานมัจฉาเป็น "ศาลเจ้าแม่กวนอิม" ซึ่งผู้สนใจสามารถแวะเข้าไปสักการะเจ้าแม่ได้ที่นี่ ถัดมาคือ"วิหารพระนอน" เป็นวิหารทรงจตุรมุข โดยมุขด้านหน้ามีหลังคาต่อเติมออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาไหว้พระ ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดพระนอน จุดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ แปลกว่าที่อื่นตรงที่เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้แล้ว บริเวณโดยรอบวัด ยังมีการปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ ทำให้วัดดูร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เชิดหน้าชูตาแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
วัดเขาทำเทียม พุทธมณฑล (พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ)
วัดเขาทำเทียม พุทธมณฑล หน้าผาแกะสลักพระพุทธรูป วัดเขาทำเทียม (พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ) หรือพุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแนวเทือกเขารางกะปิด อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อหินบริเวณหน้าผาแสดงลวดลายและโครงสร้างที่สวยงามของหินแคลก์-ซิลิเกต ในปัจจุบันหน้าผาแกะสลักพระพุทธรูปวัดเขาทำเทียมเป็นแหล่งพุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรีและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ทั่งยังเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญในบริเวณอุทยานธรณีพุหางนาค จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีอายุราว 1200 ปี ตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าวัดป่า ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า ...พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อย มาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลังปี พ.ศ. 1724 เล็กน้อย หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ (คือประทับนั่งห้อยพระบาท) มีนักปราชญ์หลายท่านว่า เดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งอย่างพระพนัญเชิงสมัยแรกต่อมาได้มีการบูรณะ ซ่อมแซมใหม่ และทำเป็นปางป่าเลไลยก์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 36 องค์ ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายวัดป่าเลไลยก์ มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีอันลือชื่อของไทย คือเสภาขุนช้างขุนแผน นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่ ปัจจุบันวัดป่าเลไลยก์ มีสถานะเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
วัดบ้านกร่าง (พระขุนแผน)
วัดบ้านกร่าง เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งทิศตะวันตก ในตำบลบ้านกว่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัย รัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2529 สิ่งสำคัญของวัด บ้านกร่าง คือ วิหาร ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ใช้เสาไม้ภายในอาคารรองรับโครงสร้างหลังคา มีช่องประตูทางเข้าด้านหน้าอยู่ค่อนไปทางฝั่งขวาของผนังสกัดด้านหน้าไม่ได้อยู่กลางผนังแบบวิหารทั่วไป คล้ายกับประดูวิหารวัดโพธาราม อ.ศรีประจันต์ และวัดหนองหลวง อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน ภายในวิหาร วัดบ้านกร่าง ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ "หลวงพ่อแก้ว" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ร่วมกับพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาซึ่งส่วนใหญ่สภาพชำรุดและพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์อีกหลายองค์ และยังมีใบเสมาหินทรายของเดิมของวัดที่ถูกนำมาประดิษฐานร่วมด้วย นอกจากวิหารยังมีสิ่งสำคัญอื่นๆอีก ได้แก่ หอระฆังไม้ และเจดีย์ทรงเครื่องผังย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะสมัยรัตบโกสินทร์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งตามประวัติของทางวัดระบุว่าเดิมทีเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่กลางแม่น้ำแต่ต่อมาแม่น้ำทำจีนเปลี่ยนเส้นทาง จึงทำให้เกิดตะกอนดินทับผมทำให้กลายเป็นเจดีย์ริมน้ำพื้นที่ตำบลบ้านกร่าง ปรากฎชื่ออยู่ในโคลงนิราศสุพรรณบุรีของทลวงสุนทรโวหาร(ภู่) ซึ่งท่านได้เดินทางมายังจังหวัดสุพรรณบรีทางแม่น้ำท่าจีนและประพันธ์ขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2379
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์)
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์) ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539 ขณะที่ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ออกแบบขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้รูปแบบมังกรสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่รู้จักกันดี ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ลำดับราชวงศ์สมัยหวงตี้ถึงราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการแสดงประวัติความเป็นมาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย เรื่องราวที่นำเสนอประกอบด้วย เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ ปรัชญา ภูมิปัญญา และการค้นพบประดิษฐกรรมสำคัญของบรรพบุรุษชาวจีน ผ่านสื่อจัดแสดงที่น่าสนใจและสวยงาม การจัดแสดงนิทรรศการภายในตัวมังกรใช้สื่อจัดแสดงที่ทันสมัย เช่น ภาพยนตร์ ระบบโสตทัศนูปกรณ์ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แสง เสียง หุ่นจำลอง ห้องฉายภาพยนตร์ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน ทั้งสอดแทรกคุณธรรมสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่บรรพบุรุษชาวจีนยึดถือ นอกจากนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ห้องรับฝากของ จำหน่ายหนังสือ และห้องจำหน่ายของที่ระลึก เปิดวันพุธ-วันศุกร์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-16.00 น. และวันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.20 น. (ปิดวันจันทร์-วันอังคาร) รอบเข้าชมนิทรรศการทุก ๆ 30 นาที อัตราค่าเข้าชม 99 บาท
Comments